เปิดเพลงในสถานประกอบการอย่างไรไม่ให้ผิดลิขสิทธิ์

ปฏิเสธไม่ได้ว่าสิ่งที่ช่วยให้บรรยากาศในร้านอาหาร ร้านกาแฟ ร้านผับ บาร์ มีบรรยากาศได้นั้นคือ “ดนตรี” ที่เปิดภายในร้าน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะสามารถดึงดูดลูกค้าได้อย่างไรก็ตามเพลงที่ทางค่ายเพลงได้ปล่อยออกมานั้นก็ล้วนแล้วแต่มีลิขสิทธิ์ ข้อกำหนดที่เจ้าของร้านควรรู้ไว้ด้วยเช่นกัน เพราะหากเปิดโดยที่เพื่อการแสวงหาผลประโยชน์โดยที่ทางต้นสังกัดยังไม่ได้อนุญาตนั้นย่อมอาจเกิดปัญหาฟ้องร้องเป็นคดีความขึ้นได้ดังนั้นในบทความชิ้นนี้จึงนำเสนอวิธีการเปิดเพลงในร้านหรือสถานประกอบการอย่างถูกวิธี 5 ข้อ ดังนี้

          1. ใช้เพลงที่ศิลปินหรือค่ายเพลงอนุญาตให้ใช้ซึ่งมีศิลปินบางรายหรือบางค่ายเพลงประกาศออกมาแล้วว่า ให้ผู้ประกอบการนำเพลงไปเปิดในร้านเลย โดยไม่คิดค่าลิขสิทธิ์ เช่น T-bone, Byrd & Heart, ค่าย Summer Disc Music Label หรือค่าย Banana Record Thailand เป็นต้น หรือไม่ก็เปิดเพลงรุ่นเก่ามากๆ ที่หมดลิขสิทธิ์ไปแล้ว เช่น เพลงแจ๊สเก่า (ซึ่งอาจจะเหมาะกับร้านที่มีโทนแต่งร้านแบบย้อนยุค เป็นต้น) เพลงเหล่านี้สามารถนำมาสร้าง playlist ของเราเองใน youtube ได้ โดยไม่ต้องกังวลถึงปัญหาทางลิขสิทธิ์และการเผยแพร่ เพียงแต่ต้องตรวจเช็คให้ดีว่าเวอร์ชันที่นำมาใช้ต้องเป็นของต้นฉบับจริงๆ เพราะไม่เช่นนั้นอาจมีลิขสิทธิ์ในส่วนของการบันทึกเสียงได้หรือหากเป็นเวอร์ชั่นใหม่ๆอาจจะยังติดเงื่อนไขทางลิขสิทธิ์ ซึ่งสามารถเช็คได้กับกรมทรัพย์สินทางปัญญา

          2. ขออนุญาตใช้เพลงให้ถูกต้องตามข้อบังคับลิขสิทธิ์เพลง ซึ่งในประเทศไทยมีหลายเจ้ามีให้บริการซื้อเพลย์ลิสต์ที่ชอบได้ สามารถจัดให้เป็นเซ็ตและเปิดได้ตลอด 24 ชม. หากผ่านขั้นตอนอย่างถูกต้อง มีราคาประมาณปีละ 10,000 บาทขึ้นไป ตามแต่ใบอนุญาตและบริษัทเจ้าของลิขสิทธิ์ แต่หากนำราคามาคำนวนแล้วพบว่าค่าบริการต่อวันน้อยมาก คุ้มค่ากว่าการถูกจับปรับหรือจ่ายค่าคดีความทางลิขสิทธิ์

          3. ระวัง “นักบิน” นักบินเป็นศัพท์ในวงการใช้เรียกพวกสายสืบที่ไปตระเวนตามร้านต่างๆ เพื่อสังเกตว่าเปิดเพลงที่น่าจะเข้าข่ายผิดลิขสิทธิ์หรือไม่ พอเรื่องถึงโรงพักก็อาจจะเสนอข้อตกลงว่ายอมความได้ถ้าหากจ่ายเงินตามที่เรียก ดังนั้นใครมั่นใจว่าทำถูกแล้วไม่ต้องกลัว เพราะถึงที่สุดแล้วส่วนใหญ่จะถอนฟ้องไปเอง อย่างไรก็ดี หากสถานประกอบการต้องเปิดรับลูกค้าทั่วไป แนะนำให้ทำถูกกฎหมายไว้ก่อน

          4. ไม่ฟังเสียงดังจนเกิดช่องให้เอาผิดได้มี พ.ร.บ. ระบุเอาไว้ชัดเจนว่า “การกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งแก่งานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้ โดยไม่ได้รับอนุญาตตามมาตรา 15 (5) ให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ ถ้าได้กระทำดังต่อไปนี้ (1) ทำซ้ำหรือดัดแปลง (2) เผยแพร่ต่อสาธารณชน” ซึ่งข้อย่อที่ (2) เข้าข่ายเสี่ยงต่อร้านกาแฟหรือร้านอาหารมากที่สุด ดังนั้น ถ้าเปิดเพลงดังใน “ที่สาธารณะ” อาจเข้าข่ายความตามกฎหมายได้เพราะถือว่าเป็นการเผยแพร่ต่อสาธารณชนโดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาตนั่นเอง

          5. อย่าคิดว่าวิทยุจะรอด เพราะการเปิดวิทยุดังให้คนในร้านฟังก็ไม่ใช่ทางออก แม้วิทยุจะมีสปอนเซอร์และเป็นบริการเปิดให้สาธารณะฟังก็ตาม แต่ถ้าทางสถานประกอบการนำมาเปิดต่อ ก็เข้าข่ายนำเพลงมาเผยแพร่ในที่สาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์อยู่ดี เพราะกฎหมายไทยตีความว่าการเปิดวิทยุฟังเพลงเป็น “การฟังส่วนตัว” การเปิดให้คนอื่นฟังในร้านอาหารถือว่าผิดกฎหมาย ‪‪

          จากทั้ง 5 ข้อที่กล่าวมาข้างต้น เจ้าของผู้ประกอบการจึงควรดำเนินการให้ถูกต้องเสียตั้งแต่เนิ่นๆ เพราะอาจจะดูเป็นเรื่องเล็กน้อยแต่ถ้าหากเกิดเรื่องเป็นคดีความขึ้นมา ย่อมสร้างความเสียหายทั้งชื่อเสียงของสถานประกอบการ และเสียทรัพย์สินไปกับกระบวนการทางกฎหมายและต่อสู้คดี

อ้างอิง

https://news.thaipbs.or.th/content/253640

Aubree Mcdonalid

Back to top